วรรณกรรมล้านนา

ความเป็นมา

ภาคเหนือของประเทศไทยมีวัฒนธรรมและวรรณกรรมเฉพาะตัว อันส่งผลให้เกิดพัฒนาการทางวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคนี้อย่างกว้างขวาง หากแต่ความมั่งคั่งทางคัมภีร์ใบลานยังคงได้รับการค้นคว้าวิจัยน้อยมากเนื่องจากขาดการเข้าถึง แม้ว่าแหล่งข้อมูลปฐมภูมิมีอยู่อย่างมากมายก็ตาม นอกจากคัมภีร์ใบลานในท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับประเพณีทางพุทธศาสนานิกายเถรวาท แล้วก็ยังมีวรรณกรรมและงานเขียนทางประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกจำนวนมาก รวมถึงชิ้นงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางสังคม กฎหมายจารีตประเพณี ตำราโหราศาสตร์ เวทมนต์ ตำนานและพิธีกรรมต่าง ๆ ไวยากรณ์และอักษรศาสตร์ ตลอดจนกวีนิพนธ์และเรื่องมหากาพย์ นิทานพื้นบ้านและนิยายรัก คัมภีร์ใบลานส่วนมากเป็นคัมภีร์นอกนิบาต ซึ่งประกอบด้วยวรรณกรรมที่ใช้พรรณนาโวหารโดยเฉพาะชาดก ซึ่งเชื่อว่าโดยมากมีต้นกำเนิดมาจากประเพณีพื้นถิ่นของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ เนื้อหาในคัมภีร์ใบลานมีทั้งภาษาล้านนา ไทยเขิน ไทยลื้อ ลาว ไทยใหญ่ พม่าและภาษาบาลี จารึกด้วยอักษรหลากหลาย

คัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ที่สุดที่มีการบันทึกปีจาร เป็นภาษาบาลีล้วน ในตอนท้ายคริสตศตวรรษที่ 15 เมื่อสมัยเชียงใหม่เป็นศูนย์กลางการศึกษาและเผยแพร่พุทธวรรณกรรมในภูมิภาค คัมภีร์ใบลานที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดคือ ติงสนิบาตซึ่งอยู่ในชาตกอัฏฐกถาวรรณนา ได้มีการจารึกไว้ ในปี ค.ศ. 1471 (จุลศักราช 833) มีคัมภีร์ใบลานส่วนน้อยที่จารึกในระหว่างปีคริสตศตวรรษที่ 17 ถึงต้น 18 ในช่วงที่พม่าครอบครองภูมิภาคนี้ แต่ในช่วงหลายทศวรรษหลังจากนั้นเป็นยุคทองแห่งคัมภีร์ใบลาน คัมภีร์ใบลานจำนวนมากจารึกขึ้นในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เมื่อครูบากัญจนะได้พัฒนาวัดสูงเม่น จ.แพร่ ให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาและภาษาบาลี และได้ริเริ่มและระดมการสนับสนุนในการรวบรวมและจารคัมภีร์ใบลานในพื้นที่ต่างๆ ในปัจจุบันเป็นภาคเหนือของไทย และหลวงพระบาง ประเทศลาว ศูนย์รวมคัมภีร์ใบลานของวัดสูงเม่นนับว่าเป็นศูนย์คัมภีร์ใบลานใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของไทย ซึ่งมีคัมภีร์ใบลานถึง 1,700 ต้นฉบับ คัมภีร์ใบลานทั้งหมดได้ถ่ายเป็นไมโครฟิล์ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา (PNTMP) และปัจจุบันก็เป็นส่วนหนึ่งของหอสมุดดิจิทัลนี้ด้วย

การอนุรักษ์

ในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 การปฏิรูประบบราชการและระบบพระพุทธศาสนาจากกรุงเทพมหานครส่งผลให้มีการยกเลิกการใช้อักษรล้านนาและวัฒนธรรมการจารคัมภีร์ใบลาน และในต้นทศวรรษที่ 1960 ได้เรี่มมีความพยายามที่จะอนุรักษ์ประเพณีวรรณกรรมท้องถิ่นนี้เอาไว้ สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้สนับสนุนการสำรวจคัมภีร์ใบลานในวัดไหล่หิน จังหวัดลำปาง โดยอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้าน สิ้นสุดลงเมื่อปี ค.ศ. 1966 หลังจากนั้น อาจารย์สิงฆะ ได้มีบทบาทสำคัญในโครงการ Dokumentarische Erfassung literarischer Materialien in den Nordprovinzen Thailands (DELMN) ซึ่งดำเนืนการโดยฮารัลด์ ฮุนดีอุส (Harald Hundius) ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1970 ภาพถ่ายไมโครฟิล์มที่ได้จากโครงการ DELMN รวมถึงสมุดตัวเขียนที่คัดลอกจากคัมภีร์ใบลานอีกมากมาย (HHHWC) ได้นำมารวบรวมไว้ในหอสมุดดิจิทัลนี้ด้วย

ในปี ค.ศ. 1981 โดย สถาบันวิจัยสังคม (SRI) ซึ่งสังกัดอยู่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เรี่มโครงการอีกหนึ่งโครงการ ซึ่งได้สร้างบัญชี และถ่ายไมโครฟิล์ม คัมภีร์ใบลานจำนวนมากกว่า 4,000 ต้นฉบับ คัมภีร์ใบลาน โดยส่วนใหญ่มีเนื้อหาครอบคลุมความรู้ทางโลก เช่น กฎหมายโบราณ ขนบธรรมเนียม โหราศาสตร์ ประวัติศาสตร์และตำรายา ฯลฯ ต่อมา สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา (PNTMP) ขึ้นตั้งแต่ปี 1987 ถึง 1992 โครงการนี้ได้ทำการสำรวจคัมภีร์ใบลานครั้งใหญ่ที่สุดในภาคเหนือของไทย ท่านสามารถค้นหาข้อมูลการสำรวจ ในรูปแบบ PDF ภายในแหล่งข้อมูลในเว็บไซต์นี้ นอกจากนี้ยังได้จัดทำไมโครฟิล์มคัมภีร์ใบลานมากกว่า 400 ม้วน (ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMUL)) ซึ่งเป็นชุดคัมภีร์ใบลานที่ใหญ่ที่สุดในหอสมุดดิจิทัลนี้ สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังได้สร้างบัญชีคัมภีร์ใบลานส่วนหนึ่งเป็นดิจิทัลโดยตรง และได้เผยแพร่คัมภีร์ใบลานเหล่านั้นออนไลน์ที่มีชื่อว่า ชุดฐานข้อมูลเอกสารมรดก สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMUL Digital Heritage Collection)

ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 เป็นต้นมา École française d’Extrême-Orient (EFEO) ได้ดำเนินการสร้างบัญชีคัมภีร์ใบลานล้านนา ตำนานและอื่นๆ พร้อมทั้งบันทึกเป็นดิจิทัล ซึ่งผู้สนใจสามารถค้นหารูปดิจิทัลดังกล่าวที่ “คัมภีร์ล้านนา” ในเว็บไซต์ของศูนย์ใบลานศึกษา สถาบันล้านนา มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ก็ได้ดำเนินการสร้างบัญชีคัมภีร์ใบลานล้านนาจำนวนมาก และบันทึกด้วยระบบดิจิทัล โดยเฉพาะคัมภีร์ใบลานที่เกี่ยวข้องกับคัมภีร์ล้านนาคือ ไทยเขิน (รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์) กับไทยลื้อ (สิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน)

โครงการหอสมุดคัมภีร์ใบลานล้านนาเริ่มขึ้นในปี 2013 เป็นโครงการที่รวบรวมคัมภีร์ใบลานจากบางโครงการที่กล่าวมานั้น ด้วยระบบออนไลน์ พร้อมคัมภีร์ใบลานที่ได้รับการบันทึกเป็นระบบดิจิทัลโดยตรงในระหว่างการดำเนินโครงการนี้ไว้ด้วย

ท่านสามารถค้นหาข้อมูลเพื่อการศึกษาเพิ่มเติมได้ในแหล่งข้อมูลของเว็บไซต์นี้

ชุดคัมภีร์ใบลานภายในหอสมุดดิจิทัล

ชุดคัมภีร์ใบลานภายในหอสมุดดิจิทัลคัมภีร์ใบลานล้านนา หอสมุดดิจิทัลคัมภีร์ใบลานประกอบด้วยรูปถ่ายคัมภีร์ใบลานจาก 4 ชุดคือ

โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ล้านนา (PNTMP): 3,914 ต้นฉบับ 159,564 รูปดิจิทัล

คัมภีร์ใบลานชุดนี้ ซึ่งเป็นชุดคัมภีร์ใบลานที่ใหญ่ที่สุดในหอสมุดดิจิทัลนี้ บรรจุภาพดิจิทัลขาวดำที่บันทึกจากรูปแบบไมโครฟิล์ม โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นโดยฮารัลด์ ฮุนดีอุส ซึ่งเป็นช่วงที่ท่านได้รับเชิญให้เป็นอาจารย์พิเศษและที่ปรึกษางานวิจัยเพื่อช่วยในการจัดตั้งบัณฑิตศึกษา สาขาภาษาล้านนา ภาควิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากปี 1983-1992 โครงการนี้ดำเนินการโดย สำนักส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก กระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ผ่านโครงการความช่วยเหลือทางวัฒนธรรมของกระทรวง ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี 1987-1991 โดยมี ดร. ม.ร.ว.รุจยา อาภากร เป็นหัวหน้าโครงการ

นอกไปจากการสำรวจและการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานทั่วภาคเหนือประเทศไทยแล้ว ยังมีการบันทึกเป็นไมโครฟิล์มจำนวนมากกว่า 400 ม้วน โดยเลือกเอา เฉพาะที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องทางด้านวรรณกรรมล้านนา ตามที่ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ได้แนะนำ รวมถึงคัมภีร์ใบลาน ทั้งหมด ที่รวบรวมได้จากวัดสูงเม่น จ.แพร่ (ซึ่งมีกว่า 150 ม้วน) สำเนาไมโครฟิล์มของคัมภีร์ใบลานชุดนี้ถูกจัดเก็บไว้ที่ หอสมุดแห่งชาติ ชุดหนึ่ง ที่ ห้องสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMUL) ชุดหนึ่ง และที่ Akademie der Wissenschaften und der Literatur ประเทศเยอรมันนีอีกชุดหนึ่ง

โดยได้รับคำอนุญาตจากสำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ไมโครฟิล์มชุดนี้ได้รับการบันทึกเป็นดิจิทัลในประเทศเยอรมันนีในปี 2012-2013 และผู้สนใจสามารถสืบค้นภาพคัมภีร์ใบลานเหล่านั้นได้ทางเว็บไซต์ภายใต้ Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 Unported (CC BY-NC 4.0) License (ยกเว้นตำรายา) การบันทึกเป็นดิจิทัลดำเนินการโดย Herrmann und Kraemer GmbH โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจาก กระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ภาพคัมภีร์ใบลานชุดนี้ได้รับการปรับแต่งและตั้งชื่อใหม่โดยโครงการ หอสมุดดิจิทัลหนังสือใบลานลาว ที่หอสมุดแห่งชาติลาว

คัมภีร์ใบลานชุดนี้เน้นหนักเรื่องพื้นเมือง (เอเชียอาคเนย์) และทางโลก นอกจากที่มีคัมภีร์ใบลานภาษาบาลีที่น่าจะเก่าแก่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ คัมภีร์ใบลานจัดทำขึ้นตามลำดับความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมและความเป็นตัวแทนของจังหวัดต่าง ๆ รวมถึงอายุและคุณภาพของคัมภีร์ใบลาน

ดูไฟล์ PDF บัตรข้อมูลการสำรวจในระหว่างโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา

หอสมุดดิจิทัลคัมภีร์ใบลานล้านนา (DLNTM): 1,051 ต้นฉบับ 39,547 รูปดิจิทัล

ชุดคัมภีร์ใบลาน DLNTM บรรจุภาพถ่ายสีที่บันทึกเป็นดิจิทัลโดยตรงในภาคเหนือของไทย ระหว่างทำการสำรวจโครงการฯ ในปีทศวรรษที่ 1980 ได้มีการคัดเลือกคัมภีร์ใบลานกว่า 6,000 ผูกเพื่อทำการบันทึกไมโครฟิล์ม แต่เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา ไม่สามารถบันทึกคัมภีร์ใบลานที่คัดเลือกแล้วกว่า 2,000 ต้นฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไม่มีการบันทึกไมโครฟิล์มคัมภีร์ใบลานในจังหวัดเชียงรายและลำพูน และได้ทำการบันทึกไมโครฟิล์มในวัดเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในจังหวัดเชียงใหม่ (คัมภีร์ใบลาน 90 ต้นฉบับที่วัดเชียงมั่น)

ร่วมกับโครงการหอสมุดคัมภีร์ใบลานล้านนา กระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน ได้สนับสนุนงบประมาณในการบันทึกคัมภีร์ใบลานเป็นดิจิทัลโดยตรงในวัด 39 แห่ง การบันทึกคัมภีร์ใบลานเป็นดิจิทัลโดยตรงนั้นดำเนินการ ระหว่าง ปี 2013 ถึง 2017 และ ภาพดิจิทัลที่ได้ถูกปรับแต่งและตั้งชื่อใหม่โดยโครงการ หอสมุดิจิทัลหนังสือใบลานลาว ที่หอสมุดแห่งชาติลาว

โครงการรวบรวมเอกสารวรรณกรรมล้านนา Dokumentarische Erfassung literarischer Materialien in den Nordprovinzen Thailands (DELMN): 991 ต้นฉบับ 13,419 รูปดิจิทัล

ชุดคัมภีร์ใบลาน DELMN นี้บรรจุภาพดิจิทัลขาวดำที่บันทึกจากรูปแบบไมโครฟิล์ม โครงการ DELMN เป็นโครงการแรกที่ได้สำรวจเชิงลึกด้านคัมภีร์ใบลานล้านนาใน 8 จังหวัดเหนือสุดของประเทศไทย ดำเนินการโดยฮารัลด์ ฮุนดีอุส (Harald Hundius) ระหว่างปี 1971-1974 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก มูลนิธิการวิจัยเยอรมัน (German Research Foundation-DFG) อาจารย์สิงฆะ วรรณสัย เป็นคนที่มีชื่อเสียงด้านวรรณกรรมล้านนาและเป็นมัคนายกวัดในการทำพิธีทางพระพุทธศาสนาต่าง ๆ เป็นผู้มีส่วนให้การดำเนินการสำรวจ ค้นคว้านี้สำเร็จลุล่วงไปได้ การสำรวจนี้ประกอบด้วยวรรณกรรมล้านนา คัมภีร์พระพุทธศาสนา ประวัติศาสตร์ กฎหมาย โหราศาสตร์ ตำรายา และอื่น ๆ

การถ่ายภาพด้วยไมโครฟิล์มดำเนินการในสถานที่ต่าง ๆ กว่า 100 แห่ง โดยใช้ไมโครฟิล์มทั้งหมด ประมาณ 25 ม้วน (จำนวนนี้รวมถึงชิ้นส่วนไมโครฟิล์มที่ไม่เป็นม้วน) ภาพถ่ายไมโครฟิล์มเป็นการถ่ายภาพเป็นเฟรมในแนวตั้งและมี 12-15 ใบในหนึ่งภาพ ในกรณีหนึ่งเฟรมประกอบด้วยใบลานมากกว่าหนึ่งเรื่อง มีการทำสำเนารูปภาพดิจิทัลทั้งหมดเพื่อบรรจุในคัมภีร์ใบลานแต่ละเรื่อง คัมภีร์ใบลานในชุดนี้บางเรื่องต่อมาได้รับการบันทึกด้วยไมโครฟิล์มภายใต้โครงการหอสมุดดิจิทัลคัมภีร์ใบลานล้านนา ซึ่งทั้งสองชุดได้รับการบรรจุไว้ในหอสมุดดิจิทัล การบันทึกเป็นดิจิทัลดำเนินการโดย Herrmann und Kraemer GmbH โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันนี ภาพคัมภีร์ใบลานชุดนี้ได้รับการปรับแต่งและตั้งชื่อใหม่โดยโครงการ หอสมุดดิจิทัลหนังสือใบลานลาว ที่หอสมุดแห่งชาติลาว

หนังสือตัวเขียนชุดฮารัลด์ ฮุนดีอุส (HHHWC):

ชุดหนังสือตัวเขียนของฮารัลด์ ฮุนดีอุส (Harald Hundius) ประกอบด้วยภาพสีของเนื้อหาในคัมภีร์ใบลานที่คัดลอกลงในสมุดบันทึกโดยผู้เขียนท้องถิ่นในต้นทศวรรษที่ 1970 ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับโครงการ DELMN ผู้เขียนส่วนใหญ่เป็นพระที่ได้รับการคัดเลือกจากวัดต่าง ๆ ในจังหวัดลำพูน โดยอาจารย์สิงฆะ วรรณสัย เนื้อหาชุดนี้ประกอบด้วยบันทึกตัวเขียนกว่า 21,000 หน้า ส่วนใหญ่เป็นการคัดลอกคัมภีร์ใบลานจากวัดที่พระผู้เขียนจำวัดอยู่ และ พิสูจน์หลักฐานในการเขียนหนังสือธรรมล้านนาที่ยังมีในสมัยนั้น การบันทึกเป็นดิจิทัลดำเนินการโดย Herrmann und Kraemer GmbH โดยได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากกระทรวงการต่างประเทศเยอรมันนี ภาพคัมภีร์ใบลานชุดนี้ได้รับการปรับแต่งและตั้งชื่อใหม่โดยโครงการ หอสมุดดิจิทัลหนังสือใบลานลาว ที่หอสมุดแห่งชาติลาว

โครงการหอสมุดคัมภีร์ใบลานล้านนา (DLNTM)

งบประมาณ

ผู้ให้งบประมาณหลักแก่โครงการหอสมุดดิจิทัลคัมภีร์ใบลานล้านนา ได้แก่ มูลนิธิเฮ็นรี่ ลูซ (The Henry Luce Foundation) และ กระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน (Auswärtiges Amt) โดยได้รับการสนับสนุนอีกจาก มูลนิธิแอนดรูว์ ดับเบิ้ลยู เมลลอน (Andrew W. Mellon Foundation) ห้องสมุด มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และ คณะศิลปะและวิทยาศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

ความร่วมมือ

นอกจากแหล่งเงินทุนสนับสนุนแล้วโครงการนี้เกิดขึ้นได้ด้วยความร่วมมือของ มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หอสมุดแห่งชาติลาว หอสมุดแห่งรัฐกรุงเบอร์ลิน และงานของ Herrmann und Kraemer GmbH (สำหรับการบันทึกเป็นดิจิทัล) รวมทั้งจัสติน รีส (Justin Reese) และ จัสติน แม็คคาร์ธี (Justin MacCarthy) (สำหรับการสร้างสรรค์เว็บไซต์) คุณอุบลพรรณ วรรณสัย คุณสันติศาสตร์ วรรณสัยและพระอาจารย์จตุพล พรหมนุชนนท์ (สำหรับการบันทึกเป็นดิจิทัลโดยตรง) และอมราลักษณ์ คำโฮง (สำหรับการแปลเป็นภาษาไทย) ขอขอบคุณท่านเจ้าอาวาสในวัดต่าง ๆ เป็นพิเศษที่อนุญาตและสนับสนุนให้มีการบันทึกภาพคัมภีร์ใบลานเป็นไฟล์ดิจิทัลโดยตรง

มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนีย มีบทบาทสำคัญในการจัดหา และบริหารเงินทุนสนับสนุนโครงการจากสหรัฐอเมริกา โดยมี จัสติน แม็คแดเนี่ยล (Justin McDaniel) ศาสตราจารย์ สาขาวิชาศาสนศึกษา เป็นผู้นำโครงการ มหาวิทยาลัยแห่งเพนซิลเวเนียยังทำการจัดเก็บภาพดิจิทัลทั้งหมดไว้อีกด้วย

สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CMUL) อนุญาตให้ไมโครฟิล์มคัมภีร์ใบลานของ โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา ได้บันทึกเป็นดิจิทัล และยังอนุญาตให้เผยแพร่ภาพเหล่านั้นในหอสมุดดิจิทัลอย่างเสรีภายใต้ครีเอทีฟ คอมมอนส์ แอ็ดทริบิวชั่น Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 Unported (CC BY-NC 4.0) License (มีข้อยกเว้นสำหรับภาพคัมภีร์ใบลานตำรายา) สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยังเป็นที่จัดเก็บภาพดิจิทัลของคัมภีร์ใบลานอีกด้วย

กระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน (ซึ่งให้การสนับสนุนด้านการเงินให้กับโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนาในช่วงทศวรรษที่ 1980 ด้วย) ให้การสนับสนุนทางการเงินในการบันทึกไมโครฟิล์มและสมุดบันทึกทั้งหมดเป็นไฟล์ดิจิทัล และการบันทึกคัมภีร์ใบลานจากวัด 8 แห่งเป็นไฟล์ดิจิทัลโดยตรง

หอสมุดแห่งรัฐกรุงเบอร์ลิน เป็นที่จัดเก็บคอมพิวเตอร์แม่ข่าย (server) สำหรับโครงการหอสมุดคัมภีร์ใบลานล้านนา (รวมทั้งโครงการ หอสมุดหนังสือใบลานลาวด้วย) และมีพันธะผูกพันในการดูแลเว็บไซต์หลังจากโครงการสิ้นสุดลงแล้ว หอสมุดแห่งรัฐกรุงเบอร์ลินยังเป็นสถานที่จัดเก็บภาพดิจิทัลคัมภีร์ใบลานทั้งหมดอีกด้วย

โครงการหอสมุดคัมภีร์ใบลานล้านนาได้รับการออกแบบโดยฮารัลด์ ฮุนดีอุส (Harald Hundius) และเดวิด วอร์เติน (David Wharton) ที่หอสมุดแห่งชาติลาว ตามรูปแบบของโครงการ หอสมุดหนังสือใบลานลาว โครงการนี้ดำเนินงานโดยเจ้าหน้าที่โครงการหอสมุดหนังสือใบลานลาวในหอสมุดแห่งชาติลาว ยกเว้นการบันทึกเป็นไฟล์ดิจิทัลโดยตรงในภาคเหนือของไทย หอสมุดแห่งชาติลาวเป็นสำนักงานของโครงการ และเป็นศูนย์ประสานงานและโลจิสติก รวมทั้งเป็นสถานที่จัดเก็บภาพดิจิทัลคัมภีร์ใบลานทั้งหมดด้วย

บุญจันทร์ พันทะวงศ์ หัวหน้าแผนกมูลเชื้อ และ หนังสือหายาก ของหอสมุดแห่งชาติลาว เป็นนักวิจัยหลักที่มีหน้าที่ในการเก็บรวบรวมบัญชีข้อมูล บันทึกข้อมูลโดยบัวสี สีปะเสิด ผู้ซึ่งมีหน้าที่เรียบเรียงไฟล์ภาพดิจิทัลของคัมภีร์ใบลานด้วย

เดวิด วอร์เติน (David Wharton) ผู้อำนวยการด้านวิชาการของโครงการ ได้ทำหน้าที่ด้านการบริหารจัดการโดยรวม และการลงข้อมูลภาษาอังกฤษและการเขียนคำอ่านภาษาอังกฤษ ประสานงานกับจัสติน รีส (Justin Reese) และจัสติน แม็คคาร์ธี (Justin MacCarthy) ในการออกแบบฐานข้อมูลและเว็บไซต์ เขายังเป็นผู้เขียนเนื้อหาและถ่ายภาพที่ปรากฏในเว็บเพจและรวมภาพถ่ายนี้ นอกเสียจากว่าจะมีการระบุเป็นอย่างอื่น

ฮารัลด์ ฮุนดีอุส (Harald Hundius) ศาสตราจารย์เกษียณทางด้านภาษาและวรรณกรรมไทยและลาว ณ มหาวิทยาลัยพัซเซา (University of Passau) ประเทศเยอรมันนี ท่านเป็นหัวหน้าท้องถิ่นโครงการ ท่านเป็นผู้ริเริ่มโครงการคัมภีร์ใบลานล้านนาในช่วงปีค.ศ. 1971 เป็นต้นมา และมีส่วนร่วมใน โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา (PNTMP) ในช่วงปี 1986-1991 ไมโครฟิล์มและสมุดบันทึกลายมือที่จัดทำขึ้นในระหว่างโครงการดังกล่าวได้รวบรวมไว้ในหอสมุดดิจิทัลนี้ด้วย ท่านมีความเกี่ยวพันกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่นมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ซึ่งได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ในปี พ.ศ. 2543) กระทรวงการต่างประเทศเยอรมัน และวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือของไทยมาเป็นเวลานาน ทำให้โครงการได้รับเงินสนับสนุนในการดำเนินงานนี้

รายละเอียดด้านวิชาการ

รูปภาพ

การแปลงไฟล์เป็นดิจิทัลจัดทำขึ้นโดย Herrmann und Kraemer GmbH http://www.hk-gap.de/ ในประเทศเยอรมันนี โดยใช้เครื่องสแกนฟิล์ม Zeutschel รุ่น OM 1600 สำหรับชุด PNTMP และ DELMN และเครื่องสแกนหนังสือ Zeutschel รุ่น OS 12000 ในการสแกนสมุดบันทึกตัวเขียนในชุด HHHCW ปรับแต่งภาพทั้งหมดด้วยโปรแกรม Adobe Photoshop CS 6

หลังจากทำการตรวจสอบไมโครฟิล์มในพื้นที่ครอบคลุมแล้ว จึงส่งรูปภาพที่ได้รับอนุมัติแล้วไปยังหอสมุดแห่งชาติลาวในรูปแบบไฟล์ TIFF หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่โครงการ หอสมุดดิจิทัลหนังสือใบลานลาว ทำการปรับแต่งภาพและตั้งชื่อไฟล์ใหม่ โดยใช้โปรแกรม Adobe Lightroom 5 และแปลงเป็นไฟล์ TIFF ความละเอียด 300 ppi เพื่อการจัดเก็บ และไฟล์ JPEG ความละเอียด 72 ppi ซึ่งเป็นภาพที่ปรากฏในเว็บไซต์ ระหว่างการปรับแต่งภาพมีการเพิ่มเลขรหัสการสำรวจและข้อมูลลิขสิทธิ์ในแต่ละภาพ และเพิ่มข้อมูลอื่น ๆ ลงในไฟล์ EXIF metadata ของแต่ละภาพด้วย

การบันทึกเป็นดิจิทัลโดยตรงในวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือของไทย ใช้กล้องดิจิทัล SLR ยี่ห้อ Nikon รุ่น D610 (FX format) พร้อมด้วยเลนส์ AF-S NIKKOR 50mm f/1.4G บนขาตั้งกล้อง Gitzo 6X Explorer 4S พร้อมทั้งใช้ไฟ LED เดย์ไลท์ Kaiser Starcluster จำนวน 2 ตัว กล้องดิจิทัลจะเชื่อมโยงเข้ากับคอมพิวเตอร์กระเป๋าหิ้ว MacBook Pro โดยใช้โปรแกรม Nikon Camera Control Pro 2 วิธีการนี้ทำให้ภาพถ่ายไฟล์ RAW ได้รับการจัดเก็บใน external hard disk หลังจากเสร็จการบันทึกภาพของทุกวัน และไฟล์ภาพเหล่านี้ถูกลำเลียงไปยังหอสมุดแห่งชาติลาว ในนครหลวงเวียงจันทน์เป็นระยะเพื่อทำการปรับแต่ง การบันทึกภาพทั้งหมดดำเนินการขึ้นในวัดและไม่มีการนำคัมภีร์ใบลานออกจากวัดแต่อย่างใด

การปรับแต่งภาพโดยใช้โปรแกรม Adobe Lightroom 5 ได้แก่ การปรับค่า white balance (ในการถ่ายภาพคัมภีร์ใบลาน 2 ภาพแรก มีการใช้ X-Rite ColorChecker Passport เพื่อการเช็คค่าสีและ white balance) การแก้ไขภาพที่มีการบิดเบือนของเลนส์ การเพิ่มเลขรหัสและลายน้ำข้อความลิขสิทธิ์ รวมถึง EXIF metadata (ที่ระบุพิกัด GPS และรายละเอียดการบันทึกเป็นดิจิทัล ลิขสิทธิ์ และอื่น ๆ) มีการเพิ่มเลขใบลานโดยใช้โปรแกรม Adobe Photoshop และแปลงเป็นไฟล์ TIFF ความละเอียด 300 ppi เพื่อการจัดเก็บ และไฟล์ JPEG ความละเอียด 72 ppi (ภาพที่ปรากฏในเว็บไซต์)

ภาพที่ได้รับการปรับแต่งแล้วจะถูกจัดเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งรัฐกรุงเบอร์ลิน (ที่ซึ่งเป็นที่ตั้งคอมพิวเตอร์แม่ข่ายของโครงการหอสมุดดิจิทัล) สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และหอสมุดแห่งชาติลาว นับว่าเป็นการสำรองข้อมูลอย่างรอบคอบที่สุด เพื่อความปลอดภัยได้มีการจัดเก็บสำเนาภาพดิจิทัลอีกชุดหนึ่งไว้ที่บริษัทที่แปลงไฟล์เป็นดิจิทัลเป็นระยะเวลา 1 ปี จนกระทั่งระบบการจัดเก็บเสร็จสมบูรณ์

นอกเหนือจากภาพคัมภีร์ใบลานแล้วยังมีการถ่ายภาพวัด หอไตร หีบธรรม ผู้คัดลอกคัมภีร์ใบลาน รวมถึงการบันทึกเป็นดิจิทัลโดยตรง ฯลฯ ได้รวบรวมไว้ใน ส่วน “รวมภาพถ่าย” ของเว็บไซต์นี้

การตั้งชื่อไฟล์

ชื่อไฟล์รูปคัมภีร์ใบลานแต่ละรูปประกอบด้วยข้อมูลที่ระบุสถานที่ในชุดไมโครฟิล์ม รวมถึงเลขรหัสของคัมภีร์ใบลานแต่ละใบที่กำหนดระหว่างการสำรวจและงานอนุรักษ์ เลขรหัสดังกล่าวก็ระบุสถานที่ หมวดและเลขมัดของคัมภีร์ใบลานต้นฉบับ ตัวอย่างเช่นภาพจากไมโครฟิล์มที่ได้จากโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา (PNTMP) มีชื่อว่า PNTMPaaa_bbb_ccccccccc_cc_ddd โดยที่ aaa เป็นตัวเลขที่ตั้งใหม่สำหรับม้วนไมโครฟิล์มในชุด PNTMP bbb เป็นเลขเฟรมในม้วนไมโครฟิล์ม ccccccccc_cc เป็นเลขรหัสการสำรวจระหว่างโครงการ PNTMP (เลข 2 ตัวแรกแทนที่ตัวอักษร) และ ddd เป็นเลขเฟรมในแต่ละต้นฉบับ

มีการใช้ระบบที่คล้ายกันเพื่อให้การตั้งชื่อภาพคัมภีร์ใบลานที่ถ่ายเป็นดิจิทัลโดยตรงที่ไม่ซ้ำกัน และมีเลขรหัส PNTMP ในกรณีที่มี ภาพคัมภีร์ใบลานในชุด DELMN และ HHHWC มีเลขรหัสที่แตกต่างคือมีเพียงเลข 4 หลัก แทนการใช้ ccccccccc_cc ในการตั้งชื่อข้างต้น

ภาพบางเฟรมที่ถ่ายซ้ำในระหว่างการบันทึกด้วยไมโครฟิล์ม และเพื่อความสะดวก ภาพที่มีคุณภาพด้อยกว่าจะจัดเก็บไว้แต่จะไม่ปรากฏบนเว็บไซต์ ซึ่งหมายถึงเลขรหัสเฟรม (bbb) อาจจะไม่เรียงลำดับต่อเนื่องกันเสมอไป

ระหว่างการบันทึกเป็นดิจิทัล และหากมีข้อมูลการสำรวจ ภาพของบัตรข้อมูลนี้จะระบุไว้ในรูปของคัมภีร์ใบลานด้วย โดยระบุ DS1 แทนตัวเลข 3 หลักของเฟรมภาพดิจิทัลในคัมภีร์ใบลาน (ddd) ไฟล์ PDF ของ บัตรข้อมูลการสำรวจนี้ ถูกรวบรวมไว้ในส่วน “แหล่งข้อมูล” ในเว็บไซต์นี้

ข้อกำหนดการใช้งาน

ภาพถ่ายติจิทัลคัมภีร์ใบลานที่แปลงจากไมโครฟิล์ม (ยกเว้นตำรายาในชุด PNTMP) รวมถึงภาพและข้อมูลอื่น ๆ สามารถเข้าถึงได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ภายใต้ Creative Commons Attribution-NonCommercial 4.0 Unported (CC BY-NC 4.0) License ชื่อของผู้สร้าง attribution parties และลิขสิทธิ์ จะบรรจุไว้ในข้อมูล EXIF ของแต่ละภาพ หากท่านมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้งานภายใต้ใบอนุญาตนี้ ให้เครดิตผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือหากท่านประสงค์จะใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของเว็บไซต์ในเชิงพานิชย์ กรุณา ติดต่อเรา

ท่านสามารถขอรายละเอียดด้านเทคนิกเพิ่มเติมได้