ภาษา

คัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่เป็นแบบสองภาษาคือ ภาษาบาลีกับภาษาล้านนา และยังพบว่ามีภาษาถิ่นอื่น ๆ ด้วย (ส่วนใหญ่เป็นภาษาบาลีกับภาษาถิ่น) เช่น ภาษาไทยใหญ่ ไทยลื้อ ไทยเขิน ลาว พม่า และภาษาไทย คัมภีร์ใบลานอีกจำนวนหนึ่งรวมถึงคัมภีร์ใบลานที่เก่าแก่ที่สุดเป็นภาษาบาลีล้วน ภาษาบาลีที่ใช้มักจะมีความแตกต่างจากภาษาดั้งเดิม เช่นที่มีในไวยากรณ์มูลกัจจายนะ ในคัมภีร์ใบลานสองภาษา ภาษาท้องถิ่นสามารถให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับความเข้าใจหรือการตีความภาษาบาลีของคนท้องถิ่น

ในโครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลานล้านนา ภาษาบาลีล้วนอยู่ภายใต้หัวข้อ “หมวด” ในหอสมุดดิจิทัลนี้ ภาษาบาลีล้วนจะอยู่ภายใต้หัวข้อ “ภาษา” และมีการจัดหมวดหมู่ใหม่ สำหรับคัมภีร์ใบลานที่เคยอยู่ในหมวด 04 ของชุด PNTMP

ดูบรรณานุกรมและลิงก์ ด้านล่างที่มีข้อมูลเกี่ยวข้อง


อักษร

คัมภีร์ใบลานส่วนใหญ่จารด้วยอักษรธรรมล้านนา หรืออักษรธรรมต่าง ๆ เช่น ธรรมเขิน ธรรมลื้อและธรรมลาว อีกส่วนหนึ่งจารด้วยอักษรไทยใหญ่ พม่า ไทย ขอม และอักษรไทยนิเทศ (อักษรล้านนาโบราณที่ใช้ในการจารเรื่องราวทางโลก) อักษรทั้งหมดข้างต้นสามารถสืบสาวไปถึงระบบการเขียนภาษาอินเดียตอนใต้ซึ่งได้ดัดแปลงมาเป็นการเขียนภาษาบาลีและภาษาท้องถิ่นอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อักษรธรรมมีความคล้ายคลึงกันอย่างมากกับอักษรมอญที่ใช้ในศืลาจารึกในอาณาจักรมอญหริภุญไชย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน) ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 18 ต้นฉบับอักษรธรรมที่ปรากฏปีจารเก่าแก่ที่สุด ค้นพบที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งจารเมื่อปี พ.ศ. 1919 เป็นการจารแบบสองภาษาบนแผ่นทองคำ มีภาษาบาลีหนึ่งบรรทัดพร้อมด้วยตัวเขียนและภาษาสยามสุโขทัย อักษรธรรมได้รับการดัดแปลงการเขียนภาษาท้องถิ่นในช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 20 คาดว่ามีการดัดแปลงในเชียงใหม่และมีการเผยแพร่ไปในอาณาจักรไทย-ลาวที่อยู่ใกล้เคียง คัมภีร์ใบลานอักษรธรรมที่ปรากฏปีจารเก่าแก่ที่สุด เป็นบทคัดลอกภาษาบาลีล้วนติงสตินิบาตซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชาตกอัฏกฐาวรรณนา ปีจุลศักราช 833 หรือ พ.ศ. 2014 จัดเก็บไว้ที่วัดไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง ท่านสามารถดูภาพถ่ายดิจิทัลของคัมภีร์ใบลานนี้ได้ในหอสมุดดิจิทัล

อักษรธรรมล้านนา ธรรมลาว ธรรมลื้อและธรรมไทยเขินมีความคล้ายคลึงกันอย่างมาก ลักษณะเฉพาะของอักษรธรรมเหล่านี้คือมีตัวพยัญชนะทั้งหมด 33 ตัวเช่นเดียวกับในภาษาบาลี และตัวควบกล้ำ (ตัวเชิง) จะเขียนไว้ใต้พยัญชนะต้น ในลักษณะเดียวกันตัวสะกดส่วนใหญ่ในคัมภีร์ใบลานภาษาถิ่นจะอยู่ใต้สระ รูปแบบของพยัญชนะตัวเชิงบางตัวจะมีความแตกต่างจากตัวมาตรฐาน นอกจากนี้อักษรธรรมแตกต่างจากอักษรไทยและลาวในปัจจุบัน ในการใช้อักษรพิเศษคือสระลอย ใช้เฉพาะคำศัพท์ภาษาบาลีที่มีตัวพยางค์ขึ้นต้นด้วยเสียงสระ และมีการใช้รูปย่อของศัพท์ที่ใช้บ่อยบางคำ

อักษรขอมก็ถือว่าได้วิวัฒนาการมาจากอินเดียตอนใต้เช่นเดียวกัน หากแต่เป็นอิสระจากอักษรมอญ จะไม่พบการจารด้วยอักษรขอมในคัมภีร์ใบลานในภาคเหนือของไทยบ่อยนัก เช่นเดียวกับอักษรธรรม อักษรขอมมีพยัญชนะเท่ากันกับพยัญชนะในภาษาบาลี มีการใช้พยัญชนะใต้พยัญชนะต้น (ตัวเชิง) และยังมีการใช้ตัวสระลอย ในพยางค์ที่ขึ้นต้นด้วยเสียงสระ อักษรขอมเฉพาะเขียนภาษาไทยและลาวมีพยัญชนะและสระเพิ่มเติมขึ้นมากกว่าอักษรเดิม

ในหอสมุดดิจิทัลนี้ยังรวบรวมเอาคัมภีร์ใบลานอักษรไทยใหญ่ พม่า ไทยกลาง และอักษรไทยนิเทศซึ่งเคยใช้ในกวีนิพนธ์จนถึงพุทธศตวรรษที่ 24 อีกจำนวนหนึ่ง

ดูบรรณานุกรมและลิงก์ด้านล่างที่มีข้อมูลเกี่ยวข้อง


ชื่อเรื่องและการค้นหาชื่อเรื่อง

ชื่อเรื่องเป็นชื่อเต็มที่ปรากฏในภาพของคัมภีร์ใบลาน รวมถึงการสะกดคำศัพท์ต่าง ๆ และคำศัพท์ประกอบชื่อเรื่อง เป็นต้น ความแตกต่างระหว่างชื่อเรื่องที่ใช้ในหอสมุดดิจิทัลและชื่อเรื่องที่ระบุในการสำรวจก่อนหน้านั้นอยู่ภายใต้ “หมายเหตุ” ในกล่อง “รายละเอียด” เมื่อดูภาพคัมภีร์ใบลาน ถ้าหากไม่สามารถระบุชื่อเรื่องได้ คัมภีร์ใบลานนั้นจะ “ไม่ปรากฏชื่อเรื่อง” โดยมีการระบุชื่อเรื่องที่ตั้งจากการสำรวจก่อนหน้านั้นในวงเล็บ

เพื่อช่วยในการค้นหา มี “คำศัพท์ค้นหาชื่อเรื่อง” ให้เลือกในส่วนบนของหน้าค้นหา ซึ่งมีการปรับให้ง่ายขึ้น มีเฉพาะองค์ประกอบหลักของชื่อเรื่องเท่านั้น (ไม่มีความแตกต่างในการสะกดคำและคำศัพท์ประกอบชื่อเรื่อง) และเป็นการถอดเป็นภาษาไทยกลางมากกว่าภาษาล้านนา ส่งผลให้คำศัพท์ค้นหาชื่อเรื่องจัดตามภาษาสันสกฤต ในขณะที่การสะกดในคัมภีร์ใบลานตามภาษาบาลี

ดูรายละเอียดการถอดชื่อเรื่องภาษาล้านนาและภาษาอื่น ๆ เป็นอักษรไทยกลางในด้านล่าง


การถอดเป็นอักษรไทยกลาง

เพื่อเป็นการรักษาหลักฐานทางภาษาศาสตร์ที่พบในคัมภีร์ใบลาน การถอดชื่อเรื่องภาษาล้านนาเป็นอักษรไทยกลางจึงใช้หลักเกณฑ์ที่ใช้ในพจนานุกรมล้านนา-ไทย โดย ศ.อุดม รุ่งเรืองศรี จัดพิมพ์โดย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปี 2547 (พิมพ์ครั้งที่ 2) หลักเกณฑ์ที่ว่านี้ได้พัฒนาและมีการใช้ในหลักสูตรมหาบัณฑิต วิชาเอกภาษาและวรรณกรรมล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529

นอกจากความแตกต่างด้านเสียงวรรณยุกต์ในภาษาล้านนากับภาษาไทยกลางแล้ว ประเด็นสำคัญในการถอดเป็นอักษรไทยกลางนี้ได้แก่ ค, ช, ท, และ พ ใช้แทนเสียงระเบิดไม่มีลมในภาษาล้านนา /ก๊ะ/, /จ๊ะ/,/ต๊ะ/ และ /ป๊ะ/ ตามลำดับ ฉ และ ฌ แทนเสียงในภาษาล้านนา /ส๋ะ/ และ /ซะ/ ตามลำดับ ฑ แทนเสียงในภาษาล้านนา /ด๋ะ/ และ ย แทนเสียง /ญะ/

การถอดชื่อเรื่องภาษาไทยลื้อ ไทยเขินและภาษาลาวเป็นอักษรไทยกลางก็ใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน โดยที่ไม่มีการแทนเสียงสระประสมด้วยสระเดี่ยว และไม่มีการเปลี่ยนแปลงความสั้น-ยาวของเสียงสระ เป็นต้น

การถอดชื่อเรื่องภาษาไทยใหญ่ (และภาษาพม่าซึ่งปรากฏในคัมภีร์ใบลานภาษาไทยใหญ่) เป็นอักษรไทยกลางก็ใช้หลักเกณฑ์ ของอาจารย์ชายชื้น คำแดงยอดไตย นักวิชาการชาวไทยใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ ดูรายละอียดหลักเกณฑ์การเขียนเป็นอักษรโรมันที่ใช้ในหอสมุดดิจิทัลนี้


บรรณานุกรม

ดูบรรณานุกรมเป็นภาษาอื่น ๆ

  • โครงการ ศูนย์ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ข้อตกลงในการปริวรรตอักษรธรรมล้านนาเป็นอักษรไทยกลาง. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2529.
  • ชายชื้น คำแดงยอดไตย และน้องหญิง คำแดงยอดไตย, การอ่านวรรณกรรมในประเภณีพิธีกรรมของชาวไทยใหญ่. เชียงใหม่ : โครงการวิจัยวรรณกรรมล้านนา, 2556.
  • บาลี พุทธรักษา, วรรณกรรมบาลีในล้านนา : รายชื่อเอกสารตัวเขียน 89 ฉบับประกอบสาระสังเขป. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2543.
  • บุญคิต วัชรศาสตร์, ภาษา และ วรรณกรรมล้านนา. เชียงใหม่ : จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย, 2545.
  • บำเพ็ญ ระวิน, อุดม รุ่งเรืองศรี, ฮารัลด์ ฮุนดิอุส, การศึกษาเชิงวิเคราะห์ปัญญาสชาดกฉบับล้านนาไทย. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.
  • พรรณเพ็ญ เครือไทย, ระบบการเขียนอักษรไทยนิเทศ. เชียงใหม่: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2533.
  • สถาบันวิจัยสังคม, รายชื่อหนังสือโบราณล้านนา : เอกสารไมโครฟิล์มของสถาบันวิจัยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 2521-2533 [1978-1990]. เชียงใหม่ : สถาบันวิจัยสังคม, 2533.
  • สมเจตน์ วิมลเกษม, แบบเรียนภาษาล้านนา. เชียงใหม่ : เจริญวัฒน์การพิมพ์, 2534.
  • สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, แบบเรียนหนังสือภาษาโบราณ. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2543.
  • สำนักหอสมุดแห่งชาติ กรมศิลปากร, แบบอักษรโบราณ ฉบับนักเรียนนักศึกษา. กรุงเทพฯ : หอสมุดแห่งชาติ, 2547.
  • อนันต์ อารีย์พงศ์, อักษรขอม. สงขลา : มหาวิทยาลัยทักษิณ, 2546.
  • อรุณรัตน์ วิเชียรเขียว, พจนานุกรมศัพท์ล้านนา เฉพาะคำที่ปรากฏในใบลาน. เชียงใหม่ : สุริวงศ์บุ๊ค เชนเตอร์, 2539.
  • อุดม รุ่งเรืองศรี, สารานุกรม วัฒนธรรมไทยภาคเหนือ. กรุงเทพฯ : ธนาคารไทยพาณิชย์, 2541.
  • อุดม รุ่งเรืองศรี, วรรณกรรมล้านนา (พิมพ์ครั้งที่สอง). กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์, 2547.
  • อุดม รุ่งเรืองศรี, พจนานุกรมล้านนา-ไทย. ปรับปรุงครั้งที่ 1. เชียงใหม่ : มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2547.
  • อุดม รุ่งเรืองศรี, ภาษาและอักขระล้านนา. เชียงใหม่ : ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551.

ดูลิงก์ภาษาอังกฤษ